ที่เที่ยวในจังหวัดสมุทรสาคร
มหาชัย
ตลาดมหาชัย เป็นตลาดสดที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสมุทรสาคร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนและก็ตั้งอยู่ใกล้กับป้อมวิเชียรโชฎกศาลหลักเมืองและศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร มีหอนาฬิกาท่าเรือเป็นจุดบอกสถานที่ มีท่าเรือข้ามฝากมหาชัย-ท่าฉลอมที่สามารถข้ามฝั่งไปยังตำบลท่าฉลอมได้ มีสถานีรถไฟที่ใช้เดินทางเข้ากรุงเทพ คือสายมหาชัย-วงเวียนใหญ่ มีท่าเรือ มีท่ารถตู้อยู่ถนนด้านข้างศาลากลางจังหวัด ตลาดสดแห่งนี้เป็นแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลนานาชนิด มีจุดพักผ่อนชมวิวคือท่าเรือและเขื่อนศาลเจ้าพ่อหลักเมือง
วัดโกรกกราก
มีเรื่องเล่าว่า สมัยก่อนได้เกิดโรคตาแดงระบาดทั่วหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงพากันบนบานต่อหน้าพระองค์นี้ว่า หากหายจากอาการตาแดง จะนำแผ่นทองมาปิดที่ดวงตาของท่าน ปรากฏว่าชาวบ้านเกือบทั้งหมดหายจากโรคตาแดงจริงๆ เลยแห่กันนำแผ่นทองมาปิดจนเต็มดวงตาขององค์พระ ภายหลังเจ้าอาวาสวัดในขณะนั้นต้องใช้กลอุบายด้วยการสวมแว่นตาดำให้องค์พระแทน ทำให้ชาวบ้านเปลี่ยนมาถวายแว่นตาดำนับตั้งแต่นั้น
ที่ตั้ง : ถนนธรรมคุณากร ตำบลโกรกกราก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
ศาลพันท้ายนรสิงห์
ศาลพันท้ายนรสิงห์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แสดงถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดีแก่พันท้ายนรสิงห์ ภายในศาลมีรูปปั้นของพันท้ายนรสิงห์ขนาดเท่าคนจริงอยู่ในท่าถือท้ายคัดเรือ ด้านล่างของศาลมีเรือไม้ซึ่งทำจากไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ ผู้คนนิยมมาขอพรให้ประสบความสำเร็จ เมื่อสำเร็จก็แก้บนด้วยการชกมวย หรือนำรูปปั้นไก่ ไม้พายมาถวาย เพราะตามประวัติท่านชอบชกมวยและตีไก่นั่นเองค่ะ
ที่ตั้ง : วัดพันท้ายนรสิงห์ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
ประวัติความเป็นมา
เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ
เนื้อความเป็นไปในแบบเดียวกัน ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ใน พ.ศ. 2247 (จุลศักราช 1066) สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ประพาสปากน้ำสาครบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรสาคร) เพื่อทรงเบ็ดด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย มีพันท้ายนรสิงห์เป็นนายท้าย ตามหลักฐานชุมนุมพระนิพนธ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า ทันท้ายนรสิงห์เป็นชาวบ้านนรสิงห์แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ
และเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 จนทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการรับใช้พระองค์อย่างใกล้ชิด
การเสด็จประพาสปากน้ำสาครบุรีครั้งนั้น เมื่อเรือพระที่นั่งไปถึงตำบลโคกขาม
คลองในบริเวณดังกล่าวมีความคดเคี้ยวมาก พันท้ายนรสิงห์พยายามคัดท้ายเรือพระที่นั่งอย่างระมัดระวัง
แต่ไม่อาจหลบเลี่ยงอุบัติเหตุได้ หัวเรือพระที่นั่งชนกิ่งไม้ใหญ่หักตกลงไปในน้ำ พันท้ายนรสิงห์รู้โทษดีว่า
ความผิดครั้งนี้ถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณี
ซึ่งกำหนดว่าถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหักผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศรีษะเสีย จึงกราบทูลพระกรุณาน้อมรับโทษตามพระราชประเพณี สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ)
ทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นการสุดวิสัยมิใช่ความประมาท จึงพระราชทานพระอภัยโทษให้
แต่พันท้ายนรสิงห์กราบบังคมทูลยืนยันขอให้ตัดศรีษะตนเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมพระราชกำหนดกฎหมายเป็นการป้องกันมิให้ผู้ใดครหาติเตียนพระเจ้าอยู่หัวว่าทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดิน
และเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไปพระองค์ทรงโปรดให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์
แล้วให้ตัดศรีษะรูปดินนั้นเป็นการทดแทนกัน แต่พันท้ายนรสิงห์ยังกราบบังคมทูลยืนยันขอให้ประหารตน
แม้สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 จะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใด
ก็ทรงจำพระทัยปฏิบัติตามพระราชกำหนดดำรัสสั่งให้เพชรฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์เสีย
แล้วโปรดให้ตั้งศาล สูงประมาณเพียงตา นำศรีษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกชัยซึ่งหักนั้น
ขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาล